สำนวนการเขียน
และแล้ววันนี้ผมก็จัดการเวลาให้กับช่วงเวลาการอ่านประจำวันจนสำเร็จ ถึงแม้จะใช้เวลาไปประมาณไม่ถึงชั่วโมง แล้วก็ถึงแม้มันจะไม่ได้ราบรื่นมาเสียเท่าไหร่ ก็ไม่มีอะไรหรอกครับ แค่ “ไม่แค่นะครับ นี่กลางเองนะครับ กลางต้องออกมาฟ้องบ้าง ไม่ใช่อะไรครับ พี่ทองจะได้ไม่ทำอีก ตะกี้พี่ทองเกือบจะไปเริ่มอ่านเล่มใหม่อีกแล้ว จริงๆเล่มนี่ก็ถือว่าเคยอ่านไปแล้วนิดนึง เล่ม The Wind-Up Bird Chronicle ของมูราคามิ แต่ว่ายังไงซะ ผมก็คิดว่าเราควรจะเอาเวลามาอ่านเล่ม 1Q84 ให้จบก่อน เพราะว่าพี่ทองเคยอ่านเล่มนั้นไว้เยอะพอสมควรแล้ว ผมต้องพูดกล่อมพี่ทองนานมาก แต่สุดท้ายผมก็เลยหลอกล่อให้พี่ทองอ่าน 1Q84 จนได้เพราะผมพูดเรื่องพล็อตเรื่องที่มีความเกี่ยวโยงกับการอยากเขียนนิยายของพี่ทองกับตัวละครที่ชื่อ Fuka-Eri ที่เค้าเขียนเกี่ยวกับตัวละครในจินตนาการที่จริงๆแล้ว มีอยู่จริง พี่ทองเลยหยุดดื้อครับ ไปละครับ นี่แอบเปิดมาพิมพ์เพิ่มครับ อิอิ พี่ทองคงไม่ได้กลับมาอ่านโพสต์เก่าๆของตัวเอง เค้าไม่เห็นหรอกครับ ฮ่าๆ” ใช้เวลาสักพักในการเจรจากับน้องชายกลางเพื่อเลือกหนังสือที่จะอ่าน
เรามาลงเอยกันที่เล่ม 1Q84 ของมูราคามิ เล่มนี้ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์เล่มนึงของผม เพราะว่าผมอ่านไว้ค่อนข้างเยอะพอสมควร ในเหล่าหนังสือนิยายที่นับนิ้วมือได้ถึงจำนวนเล่มที่ผมอ่านแล้วก็อ่านจบ ก็มีแฮร์รี่ พอตเตอร์ แล้วก็หนังสือชุด อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย แล้วก็จำได้ว่ามีหนังสือสืบสวนสอบสวนอีก ชื่อประมาณว่า Monkey Wrench (มันนานมากเสียจนผมเสิร์ชในกูเกิ้ลก็หาไม่เจอ หรือผมอาจจะจำผิด) ตอนแรกผมก็คุยกับน้องกลางว่าหรือว่าจะอ่านประวัติผู้เขียนมูมิน ตูเว ยานซอน ต่อดีไหม เพราะเมื่อวานผมก็อ่านไปได้ประมาณนึง จนรู้ไปถึงว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายเค้ามาจากไหนทำงานอะไรกันบ้างแล้ว แต่กลางก็ท้วงว่าผมไม่ได้อ่านนิยายมาสักพักแล้ว พร้อมทั้งไปหยิบเอา Kindle มาโชว์ให้ผมดูเรียบร้อย ว่าเครื่องอ่านหนังสือเครื่องนี้ที่ผมซื้อมาผมก็ยังไม่ค่อยได้ใช้มันเลยเช่นกัน ตั้งแต่กลับมาจากลอนดอน สุดท้ายเลยตกลงปลงใจกับเรื่องนี้ อีกอย่างที่น่าจะเป็นอะไรที่ win-win-win ก็เพราะว่าหญิงใหญ่ก็ชอบมูราคามิ วันนึงถ้าผมอ่านจบ ผมก็อาจจะเอาภาษาญี่ปุ่นไปคุยกับน้องสาวได้ด้วย
วันนี้ผมพยายามเคารพเวลา (มากขึ้น) เพราะมันถูกจัดสรรให้กับหลายๆกิจกรรม ผมปรับเวลาของการอ่านแล้วก็การเขียนบล็อกให้ไปเสร็จประมาณห้าทุ่มครึ่ง เพื่อที่จะได้พักผ่อนได้เร็วขึ้นกว่าเดิม แล้ววันนี้ก็เป็นครั้งแรกๆในไม่กี่ครั้งเช่นกันที่ผมได้ใช้เวลานั่งอ่านหนังสือที่โซฟาอิเกียที่ผมเคยวาดฝันไว้ว่าจะทำอะไรแบบนี้ นานหลายปีแล้ว
ผมยังคงใช้วิธีการอ่านออกเสียง สิ่งที่ค้นพบไม่นานว่ามันก็ทำให้สมาธิเราจดจ่อมากขึ้นกับหน้ากระดาษ ถึงแม้ช่วงเวลานึงผมจะหยุดอ่านเพราะรู้สึกเหนื่อย แล้วสลับให้น้องกลางช่วยอ่านแทน บางทีเราก็เล่นบทละครสมมติ ผมอ่านตัวละครนึงส่วนกลางอ่านอีกตัวนึง จริงๆตอนนี้ก็ถือว่าผมกำลังอยู่ในช่วงของการตามให้ทันกับบทที่ตัวเองเคยอ่านทิ้งไว้ล่าสุด ซึ่งนานหลายๆปีมากแล้ว
“ผมชอบประโยคนี้ครับ” ชายกลางชี้ไปที่ประโยคๆนึง ในหน้าที่เราทั้งสองตกลงที่จะอ่านกันในใจแบบไม่ต้องบอกกัน คงเพราะเราต่างเหนื่อยที่จะส่งเสียงพูด “The style doesn’t quite measure up to the strength of the story.” ชายกลางอ่านออกเสียงออกมาเป็นภาษาอังกฤษพร้อมกับแปลเป็นภาษาไทยในความเข้าใจของเค้า “สไตล์ที่เขียนออกมายังไม่แข็งแรงพอเท่ากับเนื้อเรื่อง… ผมว่าตรงนี้น่าสนใจที่จริงๆแล้วงานเขียนก็สามารถถูกจำแนกออกเป็นสองส่วน พี่ทองว่ามั้ย” ผมครุ่นคิดซักพัก “ไม่รู้สิ พี่ก็เข้าใจนะ ว่ามันต่างกัน อย่างการใช้สำนวนภาษากับประเด็นที่ต้องการจะพูด แต่ถ้าให้พี่ศึกษาแต่ละเรื่องแยกกันพี่คงงง พี่คงต้องเขียนไปแบบด้นสดเหมือนที่ทำทุกๆวันเนี่ยแหล่ะ แล้วก็หวังลึกๆว่าเนื้อเรื่องและสำนวนมันจะค่อยๆถูกตบให้เข้าที่ตามระยะเวลาที่ผ่านไป” ผมบอกชายกลาง
พี่ชอบตรงนี้มาก “He seemed a little surprised but struggled not to show it.” ถึงตาผมบ้างที่จะได้แชร์น้องว่าผมชอบตรงไหน “เค้าดูตกใจเล็กน้อยแต่ก็ดูลังเลที่จะแสดงมันออกมา อาจจะไม่ใช่คำว่าลังเล แต่พี่ก็ขอแปลแบบไม่ตรงตัวมากขนาดนั้นละกันนะ… พี่แค่คิดว่ามันเป็นภาษาที่ถ่ายทอดอะไรที่ละเอียดอ่อนดี ปกติในชีวิตประจำวัน พี่ว่าพี่ก็จะเป็นคนที่ชอบ สังเกต อากัปกิริยาผู้คนนะ แต่มันมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นบางทีเวลาเราพูดอะไร แล้วเราเห็นปฏิกิริยาจากคนที่เราคุยด้วยแล้วเรารู้สึกว่าเค้ากำลังคิดอะไรหรือรู้สึกอะไร พี่แค่ประทับใจที่มูราคามิสามารถที่จะดึงเอาโมเมนต์ละเอียดๆแบบนี้ออกมาใช้บรรยายตัวละครได้ มันเลยทำให้พี่นึกถึงตอนที่ฟัง Podcast จาก Readery เมื่อประมาณอาทิตย์ที่แล้ว ที่เค้าคุยเกี่ยวกับเทคนิคของการเป็นนักเขียนแบบมูราคามิ แล้วข้อนึงที่เค้าฝากไว้ให้นักอยากเขียนก็คือว่า ให้พยายามสังเกตสิ่งรอบๆตัวให้ได้มากที่สุด และ ให้จดจำรายละเอียดเหล่านั้นในหัว โดยไม่ต้องจดออกมา การบรรยายอย่าประโยคนี้ทำให้พี่นึกถึงคำสอนนี้เลย ชายกลางส่งยิ้มด้วยนัยน์ตาหวานให้ผม ผมรู้ว่าน้องกำลังคิดอะไร เค้าคงกำลังบอกผมว่าเค้ารอวันที่จะได้อ่านนิยายของผมบ้าง
“ตะนิงตริงตริงๆๆ” ถึงคราวไอโฟนของผมได้ส่งเสียงบ้าง หมดเวลาอ่านหนังสือกับชายกลางแล้วครับวันนี้