คัน(แต่ไม่)จิ

10E0D8AE-6288-426C-99DC-5C2618AFCDD0.jpeg

“คิด แต่ไม่ถึง คิด คิด แต่ไม่ถึง” หญิงใหญ่ฮัมเพลงล่าสุดที่ผมร้องสักครู่นี้ในแอพสมูล ตอนแรกก็คิดๆอยู่ว่าจะร้องดีไหม ใจนึงก็อยากร้องนะครับ พอมีเพื่อนๆพี่ๆมารีเควสเพลงเราก็ขอบคุณที่เค้าให้ความสนใจในการร้องเพลงของเรา แต่ผมก็เป็นคนสมาธิหลุดง่ายๆนี่สิ โดยเฉพาะเวลาเข้าไปเล่น Social Media ที่ไร มันจะเกิดความรู้สึกท่วมท้นหรือว่า Overwhelmed มากๆ แต่ก็อย่างว่าครับ ไม่ได้ร้องนานแล้ว แล้วก็เป็นอีกครั้งที่พอได้ลองอะไรใหม่ๆ ก็จะมีความรู้สึกว่าตัวเองได้ปัดฝุ่นให้ตัวเองได้อ่อนเยาวน์ลงนิดหน่อย

ตั้งแต่เช้าวันนี้ ผมก็ได้อัพเดทตารางงานกับชายใหญ่ว่าวันนี้ก็จะถึงคิวได้อ่านญี่ปุ่นกับพี่สาวคนโตของบ้านไม้หัวสักที (น้องเค้าดีกรี N1 เลยนะครับ แล้วก็เคยชนะประกวดไฮคุของคอนโดผมด้วย เอาชนะต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกอยู่ริมสระว่ายน้ำ เหมือนจะเขียนเรื่อง ความรักที่ไม่อาจตัดแต่ง) เพราะว่าช่วงนี้ผมเริ่มสร้างโมเมนตั้มในการออกแบบไลน์สติกเกอร์ได้แล้ว ทำให้สามารถที่จะสอดแทรกกิจกรรมอื่นๆเข้ามาได้อีก (ถ้ายังไม่นับการอ่านหนังสือ ซึ่งเล่มที่ 3 ของกองดองก็ถูกวางไว้แล้วเป็นหนังสือการ์ตูนช่องของ Tove Jansson ซึ่งก็คือ Moomin: The Complete Tove Jansson Comic Strip ซึ่งผมกะจะอ่านควบคู่กับ Understanding Comics ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับ Art of Comics)

ซึ่งผมก็ยังคงแอบยัดกิจกรรมร้องเพลงลงไป เพลง คิด(แต่ไม่)ถึง [Same Page?] จาก Tilly Birds ทำเอาหญิงใหญ่สนุกไปตามๆกัน ผมร้องไปหกถึงเจ็ดเทคได้ แล้วหญิงใหญ่ก็ขอไปร้องต่อบ้าง (เธอเล่นใหญ่กว่าผม ไปชวนเพื่อนในวงยี่หน่าสลาตันจอยด้วย) นี่ผมเลยมีเวลาแช่น้ำร้อนรอเธอมาเริ่มงานอ่านญี่ปุ่นกัน ผมเลยนอนแช่น้ำอ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของโรอัล ดาห์ลสักหน่อย ชายเล็กเค้าอ่านทิ้งไว้แถวโซฟา ผมเจอตอนร้องเพลงเสร็จเลยหยิบมาอ่านบ้าง (เมื่อวานอ่าน Kindle อ่านเจอเล่มนึงเค้าก็บอกว่าให้ผมอ่านชีวประวัติคนเยอะๆ เพื่อจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ผมนึกไปถึงตอนที่ไปเรียนลอนดอนแล้วรู้สึกว่าโลกเปิดมาก กับแค่การได้ฟังเลคเชอร์ผ่านอาจารย์หรือศิลปินรับเชิญในแต่ละอาทิตย์ เราคงติดอยู่ในโลกตัวเองเยอะไปหน่อย)

ผมอ่านจบไปน่าจะบทแรก อ่านจบแล้วก็เกือบจะน้ำตาซึม คงเป็นเพราะการเอ่ยถึงดาห์ลจากนักเขียนหนังสือเล่มนี้ คุณโดนัลด์ สเตอร์ร็อคน่ะนะครับ ผู้เขียนเค้าเคยเจอดาห์ลตั้งแต่ 24 ปีก่อนหน้าที่หนังสือจะเขียนเสร็จในปี 2010 แล้วก็ได้ถูกชักชวนจากดาห์ลหลายครั้งไปทานข้าวที่บ้านของเขา เค้าเอ่ยถึงได้อย่างให้เกียรติมากๆจนทำให้ผมรู้สึกถึงความชื่นชมแล้วก็เคารพผ่านออกมาจากตัวอักษร มีประโยคหนึ่งซึ่งเขียนอยู่ในหน้าแรกๆเลยตอนที่นักเขียนร่วมโต๊ะทานอาหารกับดาห์ล แล้วดาห์ลก็บอกว่าหนังสือพวกชีวประวัติน่าเบื่อและไม่น่าสนใจ แล้วก็บอกว่าสิ่งที่น่าสนใจมันมาจากการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ หาใช่ความเป็นจริงเฉยๆไม่ ซึ่งทำให้ผมได้แรงบันดาลใจมาก จริงๆผมควรจะรู้สึกโชคดีมากกว่า จริงๆแล้วผมไม่ต้องเหนื่อยคิดค้นสิ่งใหม่อะไรมากมายเลยด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องของการ ค้นพบ เสียมากกว่า การค้นพบความลับที่บรรดาไม้โขดทยอยกันแสดงออกมาให้ผมเห็นแล้วเอามาบอกเล่าต่อกับพวกคุณนักอ่านครับ

“พี่ทองงงงงงงงงง” เสียงหญิงใหญ่ตะโกน (พร้อมลูกคอยี่สิบเจ็ดชั้น) ทำเอาภาพกระท่อมนักเขียนของโรอัลด์ดาห์ลหายวับไปต่อหน้าต่อตาผม "ว้าก พี่ขอโทษทีครับใหญ่ พี่หลุดเข้าภวังค์อีกแล้วซิ เรื่องของนักเขียนคนนี้น่าสนใจจริงๆ เค้ามีความขัดแย้งในตัวสูงมาก พี่อยากจะรู้นักว่าถ้าเค้ายังมีชีวิต เค้าจะร้องสมูลแบบพี่มั้ย พี่จะได้ไปจอย” ผมทำเป็นเนียนโยงสิ่งที่ตัวเองคิดนอกเรื่องสักครู่นี้เข้าเรื่องร้องเพลงเอาใจน้องสาวเสียหน่อย “ฮ่าๆ ใหญ่ก็นึกว่าไปคิด(แต่ไม่)ถึงใครอยู่อีก ไม่เอาค่ะๆๆ พอแล้ว ตอนนี้เราต้องมา คัน(แต่ไม่)จิ กันก่อนค่ะ” ผมอึ้งกับมุกประสมคำของหญิงใหญ่เล็กน้อย สงสัยจะเป็นเพื่อนใหม่เค้าที่อยู่ในแก๊งเครื่องเทศสอนเค้ามาแน่ๆ ปกติหญิงใหญ่ไม่เคยยิงมุกประมาณนี้มาก่อน

ผมบรรจงหยิบหนังสือเรียนคันจิปกสีม่วงจากตั้งหนังสือกองสูงซึ่งผมจะกองรวมเอาหนังสือที่จะอ่านล่าสุดปัจจุบันเอาไว้ (ซึ่งจริงๆก็ควรจะมีแต่เล่มมูมิน แต่ก็จะอดรนทนไม่ได้ ต้องวางหนังสือเล่มอื่นๆไว้ด้วย) จริงๆต้องบอกว่าโปรเจคเรียนคันจินี้ ผมกับหญิงใหญ่เริ่มคิดกันตั้งแต่ตอนอยู่ที่ควีนส์เวย์ ลอนดอนแล้ว ตั้งแต่ช่วงใกล้เรียนจบผมก็มีเวลาเพิ่มขึ้น เลยตั้งใจจะกลับมาทบทวนภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Passion ส่วนตัว (หวังว่าสักวันจะสามารถอ่านคำเปรียบสวยๆของมูราคามิเป็นภาษาญี่ปุ่นได้เข้าใจ เผื่อเอาไปคุยอวดกับพี่เน็ดพี่โจ้ Readery ไม่ก็พี่แป๊ด ประจำร้านหนังสือก็องดิดเสียหน่อย ฮุ่ยเล่ฮุ่ย) ซึ่งเล่มที่ตั้งใจหยิบมาอ่านมันเจ๋งมาก มันชื่อว่า Remembering The Kanji ครับ จริงๆเค้าแบ่งเป็นสามเล่มใหญ่ด้วยกัน ผมกำลังเริ่มอ่านจากเล่มแรก ผู้เขียนคือ James W. Heisig ซึ่งวิธีการเรียนของเค้าน่าสนใจมากๆ ก็คือว่าเราจะไม่ต้องจดจำคำอ่านใดๆทั้งสิ้นเลยครับ เพราะมันเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ ‘ความหมาย’ (โอ้ย คำนี้ดี) ของตัวอักษรครับ ซึ่งเล่ม 2 ถึงจะเป็นการสอนว่าแต่ละตัวอ่านอย่างไร คล้ายๆกับเค้าจะบอกว่าการเรียนไปทีละสกิลแบบนี้ คืออ่านให้รู้ความหมาย แล้วก็ค่อยรู้ว่าอ่านอย่างไรทีหลัง เหมือนว่ามันจะได้ประสิทธิภาพมากกว่ามั้งนะครับ เอาว่าที่มันทำให้ผมอยากลองเพราะตัวเองก็เคยพยายามจะเรียนคันจิมาหลายรอบ ซึ่งที่ผ่านมาก็จะจำเป็นล็อตใหญ่ๆ หนึ่งตัว จำว่าอ่านว่าอะไรได้บ้าง มีคำศัพท์อะไรพ่วงมาบ้าง ซึ่งสุดท้ายก็จะล้มเลิกไป

“วันนี้เราจะมาทำการเรนชูชิมัส (練習します) กันก่อนนะคะ” หญิงใหญ่พูดภาษาไทยคำญี่ปุ่นคำ บ้านเราไม่ค่อยซีเรียสเรื่องนี้ครับ (หวังว่าคุณผู้อ่านก็จะไม่ติดอะไร) เรนชูชิมัส แปลว่า การทบทวนน่ะครับ น้องสาวคงพยายามค่อยๆตบให้ผมกลับเข้ามาสู่โลกแห่งภาษาญี่ปุ่น “บทแรกีทั้งหมด 15 ตัว ตัวเลขก็ปาเข้าไปสิบแล้ว ซึ่งที่น่าสนใจก็คือการแบ่งความหมายของคันจิแต่ละตัวเป็นสองประเภทคือ Key Word หรือความหมายหลัก กับ Primitive Element หรือ ความหมายอื่นๆ(ที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างเพิ่มเติมจากความหมายหลัก) เวลาที่คันจิตัวนั้นๆถูกนำไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของคันจิตัวอื่นที่ซับซ้อนขึ้น พอจะจำได้ใช่มั้ยคะพี่ทอง”

“บทนี้พี่คงไม่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานเท่าไหร่ เรื่อง Primitive Element ใช่ มันว้าวๆมากๆสำหรับพี่ด้วย ตัวที่พี่ชอบก็อย่างตัว สึคิ 月 ที่นอกจากจะแปลว่า เดือน ตามความหมายหลัก Key Word แล้ว มันยังมีความหมายอื่นๆเวลาไปประกอบกับคันจิตัวอื่น อาจจะแปลว่า พระจันทร์ หรือว่า เนื้อ หรือว่า ส่วนหนึ่งของร่างกาย ตรงเนี้ย พี่ว่าน่าตื่นเต้นมากๆ”

หญิงใหญ่รับฟังผมไปด้วย พลางเดินไปเปิดเอากระปุกหมึกออกมา แล้วจึงสยายมวยผมออกใช้ใบไม้ที่มีลักษณะคล้ายใบตำลังของเธอจุ่มลงไป แล้วก็ดำเนินการเขียนตัวอักษรคันจิลงบนกระดาษ “ส่วนใหญ่ชอบตัวนี้ค่ะ” เธอจึงเขียนตัวอักษรที่แปลว่า นาข้าว 田 ซึ่งเมื่อทำหน้าที่เป็น Primitive Element ก็จะแปลว่านาข้าว แล้วก็ สมอง อีกด้วย “เรามาเลือกกันคนละตัวก็สนุกดีค่ะ ว่าชอบตัวไหน หญิงชอบเพราะว่ามัน คิด(แต่ไม่)ถึง ค่ะ ว่ามันจะดูเหมือนสมอง พี่ทองลองแปลงใหญ่เป็นตัวคันจิหน่อยสิคะ ใหญ่อยากเห็นจะเป็ฯหน้าตายังไง” ใหญ่เชิญชวนให้ผมใช้สมองซีกขวาเสียหน่อย ก่อนจบเซสชั่นญี่ปุ่นลงอย่างรวดเร็ว (90% ของสมองเราหนึ่งคนกับหนึ่งต้น กำลังร้องเพลงคิด(แต่ไม่)ถึงอย่างสนุกสนาน)

Previous
Previous

ทำไปแก้ไป

Next
Next

มังคุดยักษ์